วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557


งูหลาม





 

ประวัติ

ในปัจจุบันมีคนหันมาให้ความสนใจกับสัตว์เลี้ยงแปลกๆ( Exotic Pet )มากขึ้น ไม่ว่าจะเนื่องมาจากกระแสนิยม หรือ การต้องการหาสิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิต แต่จากสาเหตุอะไรก็แล้วแต่สัตว์เหล่านี้ก็ได้เข้ามานั่งอยู่ในหัวใจใครต่อหลายคนแล้ว ดังนั้นการศึกษาหาข้อมูลของสัตว์ชนิดนั้นๆก่อนนำเข้ามาเลี้ยงย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ส่วนมากแล้วจะไม่ค่อยมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้นๆก่อน อาจได้ข้อมูลจากผู้ขายมาบ้างแต่ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องเท่าไรนัก เพราะโดยส่วนมากแล้วผู้ขาย( บางท่าน )จะให้ข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ต่อการขายของเขามากกว่า ดังจะเห็นได้จากตามหน้าเวบบอร์ด เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงบ่อยๆ เช่นว่า ผมชื้องูหลามมาแล้วไม่รู้จะให้อะไรมันกินดีครับ หรือ ทำไงดีครับ งูหลามของผมตัวมันใหญ่ ไม่มีที่เลี้ยงแล้ว ฯลฯ วันนี้ผมจะขอนำเสนอข้อมูลของงูหลามเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนนำมาเลี้ยงดู หรือสำหรับผู้ที่เลี้ยงอยู่แล้วได้เข้าใจมันมากขึ้น

งูหลามที่เราๆนำมาเลี้ยงกันเป็นงูที่ฝรั่งเรียกว่า Burmese Python มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Python molurus bivittatus จัดเป็นงูที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากพี่เบิ้ม อนาคอนดา และ พี่เหลือม หากในเรื่องของความยาวงูเหลือมชนะ อนาคอนด้าขาด งูหลามเมื่อโตเต็มที่อาจมีขนาดถึง 7 เมตรเลยทีเดียว งูหลามจะมีลักษณะค่อนข้างอ้วนเมื่อเทียบกับงูเหลือม ลวดลายบนตัวนั้นจะออกไปทางสีน้ำตาล ขาว และมีเส้นตัดสีเหลืองเป็นรูปร่างต่างๆ มองเผินๆจะคล้ายกับลายของยีราฟ ลายที่ส่วนหัวจะมีแถบสีครีมพาดตั้งแต่ท้ายทอยไปถึงปลายจมูกมองแล้วจะคล้ายลายของตัวอึ่งอ่าง บริเวณกลางหน้าผากจะมีเส้นสีครีมขีดแนวตั้งหนึ่งขีด ดวงตามีสีน้ำตาลเข้ม งูในกลุ่ม python จะมีอวัยวะรับความร้อน (heat pit) อยู่ระหว่างปากและจมูก ซึ่งอวัยวะรับความร้อนนี้ใช้ในการล่าเหยื่อซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่น งูหลามเป็นงูที่พบได้ทั่วไปในแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ ซึ่งพบถึงจังหวัดชุมพรเท่านั้น

อุปนิสัยโดยทั่วไป

แล้วงูหลามจัดว่าเป็นงูที่ค่อนข้างเชื่อง ถึงแม้จะเป็นงูป่าตัวโตๆก็เถอะก็ยังไม่ก้าวร้าวนัก ผิดกับงูเหลือมซึ่งดุยังกะหมาร็อตไวเลอร์ ในธรรมชาติแล้วงูหลามมักจะออกหากินตอนกลางคืน โดยอาศัยอวัยวะรับความร้อนที่กล่าวมาข้างต้นนี้แหละ โดยมักจะซุ่มอยู่เงียบๆรอเหยื่อที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นผ่านมา งูหลามเป็นงูที่ไม่มีพิษ ฆ่าเหยื่อโดยการรัดซึ่งการรัดนี้ไม่ได้ทำให้เหยื่อตายจากการขาดอากาศหายใจ แต่เกิดจากการที่ร่างกายของเหยื่อถูกบีบรัดจนความดันโลหิตสูงมากเกินกว่าร่างกายจะรับได้ เมื่อแน่ใจว่าเหยื่อตายแล้วจึงเริ่มกินจากทางด้านหัวก่อน งูหลามสามารถกลืนเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าหัวของมันได้เนื่องจากขากรรไกรล่างด้านซ้ายและด้านขวาของมันไม่เชื่อมต่อกันเหมือนสัตว์อื่นๆ จึงทำให้สามารถยืดขยายขนาดของปากได้

ความแตกต่างระหว่างเพศของงูหลาม งูตัวผู้ เดือยบริเวณข้างๆทวารหนักจะมีขนาดใหญ่และเห็นได้ชัดเจน ส่วนงูตัวเมีย เดือยดังกล่าวจะมีขนาดเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัดหรือบางตัวอาจมองไม่เห็นเลย งูหลามจะผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาว คือตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน กุมภาพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์แล้วจะตั้งท้อง 2 เดือน และฟักไข่อีกราว 2 เดือนเศษ

การเลือกงูหลามมาเลี้ยงนั้น ควรเลือกงูที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงมากกว่า เพราะลูกงูที่จับมาจากป่านั่นอาจมีเชื้อโรคแล้วปรสิตปะปนมา ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกร้านที่มีงูให้เลือกหลายๆตัวจึงจะดี การเลือกนั้นผมจะดูจากความสมบูรณ์ของงูเป็นอันดับแรกคือ งูต้องอ้วนไม่ผอมจนเห็นซี่โครงตัวที่ผอมมากๆลำตัวจะเป็นสักษณะสามเหลี่ยมเลยทีเดียว จากนั้นให้ดูว่างูต้องไม่มีน้ำลายไหลเยิ้มออกจากปาก และมีอาการปากปิดไม่สนิทหรือเปล่า ผิวหนังต้องมันเป็นเงาไม่แห้งด้าน ตาต้องไม่ขุ่นมัว ยกเว้นในกรณีที่งูกำลังเข้าคราบตาก็จะขุ่นเหมือนกัน ควรมีการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหว มีการและลิ้นสัมผัสอากาศเป็นระยะๆ หากได้จับงูขึ้นมาดูด้วยจะยิ่งดี ถ้างูแข็งแรงมันจะไม่อ่อนปวกเปียกขณะที่เรายกขึ้นมา ส่วนเรื่องลวดลายนั้นก็เลือกตามความพอใจของผู้เลี้ยงได้เลย

เมื่อนำงูกลับมาถึงบ้านแล้วยังไม่ต้องรีบร้อนเอางูออกจากถุงผ้าที่ทางร้านใส่มาให้ ให้จัดเตรียมเรื่องสถานที่เลี้ยงเสียก่อน ในขณะที่ยังเป็นลูกงูนั้นคงไม่ลำบากในการจัดเตรียมสถานที่มากนัก อาจใช้ตะกร้าพลาสติกแบบล็อกได้มาใช้เลี้ยงงูก็ได้ หรืออาจใช้กล่องพลาสติกที่มีขายทั่วไปตามห้างมาเจาะรูระบายอากาศก็ใช้ได้ผลดีเช่นเดียวกัน บางท่านอาจใช้ตู้ปลาขนาดพอเหมาะแล้วทำฝาด้ายบนเป็นตาข่ายมาปิดก็สวยงามไปอีกแบบ ทั้งนี้ต้องระวังในเรื่อง ช่อง ร่อง รู ให้ดีเพราะหากมีช่องพอที่งูมุดหัวออกไปได้แล้วล่ะก็ รับรองหนีได้สบายๆ ภายในที่เลี้ยงควรประกอบไปด้วยถ้วยใส่น้ำดื่ม อาจใช้ชามข้าวของสุนัขก็ได้ เพราะว่าน้ำจะไม่หกได้ง่ายหากงูไปเลื้อยทับถ้วยน้ำเข้า สิ่งที่ควรมีอีกอย่างหนึ่งคือ Hide Box เอาไว้สำหรับให้งูได้ซ่อนตัว เพื่องูจะไดรู้สึกปลอดภัยและไม่เครียด Hide Box อาจทำมาจากกระถางดินเผาแตกๆมาคว่ำก็ได้ นอกจากนั้นยังควรมีกิ่งไม้เอาไว้สำหรับให้งูได้ใช้ถูตัวเวลาที่ลอกคราบ ที่เลี้ยงสามารถให้หนังสือพิมพ์ปูรองพื้นได้ซึ่งก็สะดวกดีในการทำความสะอาด หากงูมีการขับถ่ายก็แค่เปลี่ยนหนังสือพิมพ์ใหม่เท่านั้น แต่ท่านควรระลึกไว้เสมอนะครับว่างูหลามตัวน้อยในวันนี้จะกลายเป็นงูยักษ์ในระยะเวลาไม่กี่ปีฉะนั้นจึงต้องมีการคิดวางแผนในอนาคตไว้ด้วยในเรื่องสถานที่เลี้ยง งูโตเต็มวัย 1 ตัวต้องการพื้นที่สัก 2*3 เมตร แต่หากไม่สามารถจัดให้ได้ สถานที่เล็กกว่านั้นก็พอไหวครับ แต่คงไม่สบายตัวเท่าไรนัก

เมื่อจัดสถานที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาย้ายเข้าบ้านใหม่กัน หลังจากนำงูปล่อยลงในที่เลี้ยงแล้วควรปล่อยให้งูได้ปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่สักระยะ คือให้งูอยู่เงียบๆสัก 2-3 วันโดยไม่ไปรบกวนงู

การให้อาหารนั้น ก็ให้เน้นเป็นสัตว์เลือดอุ่นไว้ก่อน ที่เหมาะที่สุดเห็นจะได้แก่ หนูขาว หรือหนูถีบจักร นั่นเอง โดยให้ปล่อยหนูที่อิ่มลงไปแล้วในช่วงหัวค่ำ ส่วนมากงูจะกินทันทีที่เห็น แต่ถ้างูไม่กินก็ให้เอาหนูออกก่อนเพราะหากทิ้งหนูไว้งูหลามทองท่านอาจโดนหนูแทะเป็นแผลเหวอะหวะได้ อันนี้ไม่ควรประมาทเพราะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว จำนวนหนูที่จะให้งูกินนั้นสำหรับลูกงูให้หนูสัก 2-3 ตัวก่อนโดยให้ทีละตัวแล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้นตามขนาดของงูที่โตขึ้น สำหรับความถี่ในการให้อาหารนั้น ในลูกงูจะให้สัปดาห์ละครั้ง สำหรับงูโตแล้วสามารถยืดเวลาออกไปอีกได้ เช่นเดือนละ 2 ครั้งก็ยังได้ หลังงูที่งูกินอาหารอิ่มใหม่ๆนั่นไม่ควรไปจับงูเล่นเด็ดขาดเพราะจะทำให้งูสำรอกอาหารออกมาจนหมด หากจะจับจริงๆควรรอให้ผ่านไป สัก 2 วันก่อน

แต่เดี๋ยวก่อน !!! สำหรับท่านที่ไม่ต้องการให้สิ่งมีชีวิตกับงูบ่อยๆ เรามีทางเลือกให้ท่าน นั่นก็คือ งูหลามสามารถฝึกให้กินน่องปีกบนไก่ได้…….

การฝึกให้งูหลามกินน่องไก่ ทำได้โดยเริ่มจาก ในครั้งแรกก็ให้หนูตามปกติ แต่หนูที่เราให้ไปนั้นตามเอามาถูกับน่องไก่เสียก่อน เพื่อให้หนูมีกลิ่นของน่องไก่ติดไปด้วย ในขณะที่งูกำลังกลืนหนูคำสุดท้ายให้เอาน่องปีกบนไก่ด้านเล็ก จ่อติดไว้กับก้นหนูค่อยดันให้ติดๆไว้เลย จนกว่างูจะกลืนมาถึงน่องไก่ เมื่องูงับน่องไก่แล้วจึงปล่อยมือ เดี๋ยวงูมันก็จะกินตามน้ำเอง หลังจากทำอย่างนี้สัก 2-3 ครั้งแล้ว ให้ลองเอาน่องปีกบนไก่ที่แช่น้ำอุ่นให้พออุ่นๆ มาแกว่งล่อตรงหน้างู โดยปกติแล้วงูก็จะงับ แต่ถ้างูไม่กินอีก 2-3 วันค่อยลองใหม่ ข้อควรระวัง การเอาน่องไก่ไปแกว่งล่อตรงหน้างูนั้น ไม่ควรใช้มือจับน่องไก่โดยตรง เพราะอาจทำให้งูฉกผิดมาโดนมือก็ได้ อันนี้ผมโดนมาแล้ว แนะนำให้ใช้ที่คีบถ่าน หรือเหลาไม้ไผ่ยาวสัก 80 เซนติเมตร เอามาเสียบน่องไก่ไว้ก็ได้ ทั้งนี้การให้งูกินเฉพาะน่องไก่อย่างเดียวเป็นระยะเวลานานๆอาจทำให้งูขาดสารอาหารได้ เพราะฉะนั้นควรให้งูได้กินสัตว์ทั้งตัวบ้างเป็นบางครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดีของงูหลามที่คุณรัก

การดูแลทั่วไป

จริงๆแล้วการดูแลงูหลามทั่วไปนั้นไม่ยุ่งยากอะไรเลย ไม่ต้องพาไปฉีดวัคซีน ไม่ต้องพาไปเดินเล่น ไม่ต้องแปรงขน ฯลฯ แค่เพียงนำออกมาอุ้มเล่นทุกๆวัน ยกเว้นตอนงู อิ่มๆและช่วงที่งูเข้าคราบ โดยเล่นวันละประมาณชั่วโมงเพื่อสร้างความคุ้นเคย เก็บและทำความสะอาดทันทีเมื่อเห็นงูขับถ่ายออกมา เก็บคราบของงูที่ลอกแล้วไปทิ้ง อย่าปล่อยเอาไว้ในที่เลี้ยงงูเพราะอาจหมักหมมเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ เปลี่ยนน้ำในถ้วยทุกวันเพราะงูมักจะชอบขับถ่ายใส่น้ำบ่อยๆ นำออกมาโดนแดดอ่อนๆในตอนเช้าบ้างเพื่อให้ระบบการย่อยอาหารของงูสมบูรณ์ ที่สำคัญอย่าลืมงูไว้กลางแดดเชียวประเดี๋ยวท่านจะได้งูแดดเดียวเป็นมื้อเที่ยงกันพอดี นำงูไปอาบน้ำเมื่อเห็นว่าตัวงูสกปรกเพราะงูอาจเลื้อยทับอุจาระของตัวเอง แต่ไม่ควรใช้สบู่ ให้ใช้น้ำสะอาดล้างก็พอ

โปรดจำไว้เสมอว่างูหลามอย่างไรก็เป็นสัตว์ป่า ถึงแม้จะมีความคุ้นเคยแค่ไหนสัญชาติญาณในการล่าก็ยังคงมีอยู่ลึกๆ ดังนั้น ข้อควรระวังในการเลี้ยงงูหลามมีดังนี้

  อย่าปล่อยให้ทารก หรือ เด็กเล็กๆ อยู่ตามลำพังกับงูขนาดใหญ่ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นได้

  ในการทำความสะอาดที่เลี้ยงงูหลามขนาดใหญ่ ควรมีสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ด้วยอย่างน้อย 2 คน หากมีอุบัติเหตุจากงูขึ้น จะได้ช่วยเหลือกันได้ทันเวลา

  ไม่ควรเป่าลม( จากปากหรือจมูก )ใส่หน้างูหลาม หรืออาจเป็นงูชนิดอื่นๆในกลุ่ม Python เพราะจะทำให้งูพุ่งเข้าฉกได้

  ไม่ควรใช้มือจับอาหารไปยื่นให้กับงูหลามโดยตรง เพราะงูอาจเข้าใจผิดแล้วฉกมือของผู้เลี้ยงได้ เนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ( อย่าลืมว่างูหลามการจับใช้ความร้อนจากเหยื่อและมือของเราก็อุ่นเช่นกัน )

  หลังจากจับอาหารของงูมาแล้ว ควรล้างมือให้สะอาด เพราะกลิ่นของอาหารที่ติดมือท่านอยู่อาจทำให้งูฉกท่านได้


  สัตว์เลื้อยคลานทุกชนิด จะมีเชื้อแบคทีเรีย Salmonella อยู่ในอุจาระ ซึ่งหากเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายโดยการกิน( โดยไม่ตั้งใจอยู่แล้ว ใครจะไปกินขี้งู ) จะเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ , ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นควรล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัสงูหลามตัวโปรดของท่านทุกครั้ง

โรคต่างๆ

เป็นหวัด

        เกิดจากแบคทีเรียเสียเป็นส่วนใหญ่  พบว่างูจะอ้าปากหายใจลำบาก ฮุบอากาศ  มีน้ำมูก หายใจมีเสียงดัง มักเกิดจากอุณหภูมิของสถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสมร้อนหรือเย็นเกินไป  การรักษาก็ปรับสถานที่เลี้ยงให้ถูกต้อง ( อุณหภูมิที่เหมะสมอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียสและความชื้น 35 - 50 % ) และถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ช่วยป้อนอาหารก็จะดีมาก  บางครั้งอาจถึงขั้นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย  และการพาไปหาสัตวแพทย์ตั้งแต่เป็นไม่มากก็ช่วยชีวิตงูไปได้มากครับ

การลอกคราบที่ไม่สมบูรณ์ 

              เป็นปัญหาทางผิวหนังที่พบได้บ่อย ๆ มักเกิดจากความชื้นในสถานที่เลี้ยงไม่เพียงพอ ไม่มีวัสดุช่วยในการลอกคราบ  คุณภาพอาหารไม่ดีหรืออาหารไม่เพียงพอ , รวมถึงป่วยจากโรคอื่น ๆ  ลักษณะรอยโรคจะเป็นคราบที่เหลือติดอยู่ตามตัว เน่าและเกิดแผลได้ง่ายเมื่อช่วยดึงคราบออก  บางครั้งเกิดที่ตาก็ทำให้เกิดการอักเสบ  หรือเป็นแผลหลุมที่ตาดำ 

การรักษาก็ใช้แช่งูลงในน้ำอุ่นหรือใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด  เมื่อคราบนุ่มก็คอย ๆ ดึงออกด้วยความระมัดระวัง  ที่ตาต้องค่อย ๆ ดึงและทะนุถนอมอย่างมาก ๆ  การป้องกันทำได้ตั้งแต่เราสังเกตเห็นว่าตางูเริ่มขุ่นและหยุดกินอาหาร  เราก็เพิ่มความชื้นในสถานที่เลี้ยงหรือหาอ่างน้ำให้แช่  หากิ่งไม้หรือก้อนหินสำหรับปีนป่ายและช่วยในการลอกคราบครับ  

 กินสิ่งแปลกปลอม
         จะกินอะไรเข้าไปนั้น  ขึ้นกับลักษณะการเลี้ยงดู เพราะถ้าเลี้ยงปล่อยในห้องนอนก็สามารถพบอะไรก็ได้ที่วางเกะกะไว้  เช่น  ถุงเท้า  นาฬิกาข้อมือ กางเกงในและ ฯลฯ  และถ้าเลี้ยงในกรงที่มิดชิดแต่มีวัสดุปูรอง  ก็จะพบทางเดินอาหารอุดตันจากวัสดุทำพื้นกรงหรือคอก เช่น ขี้เลื่อย  เศษไม้ และหิน  พบได้บ่อย ๆ ในผู้เลี้ยงมือใหม่ครับ  ถ้าสิ่งแปลกปลอมนั้น  เข้าไปไม่นานอาจล้วงออกได้  แต่ถ้าเข้าไปนานจะทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบของทางเดินอาหารต้องในการผ่าตัดออกเท่านั้นครับ

ปรสิตในทางเดินอาหารและผิวหนัง

        ถ้าเป็นพยาธิภายในร่างกาย  มักเกิดจากติดมากับเหยื่อที่ให้กินหรือติดตัวมาตั้งแต่เป็นงูป่าก่อนจะนำมาเลี้ยงครับ  โดยจะแสดงอาการเมื่อเลี้ยงไปได้สักพักหนึ่ง  งูจะผอม  เบื่ออาหาร  ขย้อนอาหาร เชื่องช้า  ถ้าเป็นพยาธิในปอดก็จะหายใจลำบาก  อาจร้ายแรงถึงถ่ายเป็นเลือดและเสียชีวิตได้  การรักษาต้องใช้ยาชนิดที่ตรงกับชนิดไข่พยาธิที่พบในอุจจาระครับ  หนทางป้องกันที่ดีที่สุด คือ ต้องถ่ายพยาธิงูทุกครั้งหลังซื้อมาครับ

ส่วนเห็บและไรของงู  ซึ่งเป็นปรสิตภายนอกนั้นสามารถติดกันได้ง่าย ๆ โดยการสัมผัสหรือติดจากสถานที่ค้าสัตว์ที่อับชื้น  บางครั้งอาจทำให้งูโลหิตจางและเป็นแผลที่ผิวหนังเรื้อรังได้  จะพบมากบริเวณตา , ปากและทวารรวม  การรักษาจะใช้การดึงออกก็ได้  แต่ถ้ามีปริมาณมากสามารถใช้ Dichlorovinyl dimethylphosphate ( DDVP ) หรือ  Amitraz ผสมน้ำแล้วลูบตามตัวก็ได้  สักอาทิตย์ละหนึ่งถึงสองครั้ง  แต่ห้ามเข้าปากและจมูกนะครับ ( ระคายเคืองมาก...)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น